..:: รางจืด ::..

บทความโดย นางสาวจิตรา ทองเสม


          รางจืด ชื่อวิทยาศาสตร์ Thumbergia laurifolia Lindl. เป็นไม้เลื้อย ไม้เถา เนื้อแข็ง ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปขอบขนานหรือรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนเว้า มีเส้น 3 เส้นออกจากโคนใบ ดอกมีสีม่วง อมฟ้า ออกเป็นช่อห้อยลงตามซอกใบ ใบประดับสีเขียวประแดง กลีบเลี้ยงรูปจาน ดอกรูปแตรสั้น โคนกลีบดอกมีสีเหลืองอ่อน เชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 4 อัน ผลเป็นฝักกลม ปลายเป็นจะงอย เมื่อแก่แตกเป็น 2 ซีก รางจืดที่มีประสิทธิภาพคือ รางจืดชนิดเถาดอกสีม่วง

          ใบและราก ใช้ปรุงเป็นยาถอนพิษไข้ เป็นยาพอกบาดแผล น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ทำลายพิษยาฆ่าแมลง พิษจากสตริกนินให้เป็นกลาง พิษจากดื่มเหล้ามากเกินไป หรือยาเบื่อชนิดต่างๆ เข้าสู่ร่างกายโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ก็ตาม เช่น ติดอยู่ในผักผลไม้ที่รับประทาน เมื่ออยู่ในสถานที่ห่างไกล การนำส่งแพทย์ต้องใช้เวลา อาจทำให้คนไข้ ถึงแก่ชีวิตได้ ถ้ามีต้นรางจืดปลูกอยู่ในบ้าน ใช้ใบรางจืดไม่แก่ไม่อ่อนเกินไปนัก หรือรากที่มีอายุเกิน 1 ปีขึ้นไป และ มีขนาดเท่านิ้วชี้ มาใช้เป็นยาบรรเทาพิษเฉพาะหน้าก่อนนำส่งโรงพยาบาล

          วิธีใช้ ใบสด 10-12 ใบ นำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำซาวข้าวครึ่งแก้ว คั้นเอาแต่น้ำดื่มให้หมดทันทีที่มีอาการ อาจให้ดื่มซ้ำได้อีกใน 1/2 - 1 ชั่วโมงต่อมา

          คำเตือน การใช้รางจืดสำหรับถอนพิษยาฆ่าแมลง ยาพิษและสตริกนินนั้น ต้องใช้ยาเร็วที่สุดเท่าที่จำทำได้ จึงจะได้ผลดี ถ้าพิษยาซึมเข้าสู่ร่างกายมากแล้ว หรือทิ้งไว้ข้ามคืน รางจืดจะได้ผลน้อยลง

....................................................................................................................................................................ที่มา : www.rspg.or.th เว็บไซต์โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
        สยามบรมราชกุมารี