..:: 3 วิธี ลดหวาน ห่างไกลโรค::..
บทความโดย นางสาวจิตรา ทองเสม
การกินอาหารรสหวานมากเกินไปย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่แนวโน้มการบริโภคน้ำตาลของคนไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือเอ็นซีดี (NCDs)
ความหวานในชีวิตประจำวันส่วนใหญ่มาจากน้ำตาล ในขณะนี้อัตราการบริโภคน้ำตาลของคนไทย เฉลี่ย 25 ช้อนชา ต่อวัน/คน หรือประมาณ 100 กรัม /คน ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคได้ไม่ควรเกิน 25 กรัม/วัน หรือ 6 ช้อนชา/วัน โดยรวมแล้วคนไทยมีแนวโน้มการบริโภคน้ำตาลมากขึ้น น้ำตาลเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อสุขภาพ ทั้งสุขภาพรวม ของร่างกาย และสุขภาพช่องปากที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคต่างๆ ตามมาอีกภายหลัง
การบริโภคน้ำตาลที่มากเกินไปยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือเอ็นซีดี (NCDs) ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญสารอาหารในร่างกาย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ และฟันผุ เมื่อฟันผุก็ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ เด็กที่เคี้ยวอาหารไม่ได้ก็จะขาดโภชนาการที่เหมาะสมตามวัย หรือผู้สูงอายุเองที่เคี้ยวอาหารไม่ได้ก็ไม่สามารถกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้
อาการติดรสชาติของความหวานนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า น้ำตาลไม่ใช่สารเสพติด ดังนั้นคนที่กินน้ำตาลจึงไม่ได้ มีอาการรุนแรงจนร่างกายทนไม่ได้ แต่การติดหวานในที่นี้คือติดความสุขจากการได้กินรสหวาน ซึ่งการติดรสชาติความหวานเป็นพฤติกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนได้
ดังนั้นจึงมี 3 วิธี ง่ายๆ ที่จะปรับพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาล คือ
1.ทุกอย่างจะต้องเริ่มปรับที่ตัวเองก่อน ซึ่งต้องค่อยๆ ลดความหวานลงที่ละน้อยให้รู้สึกว่าไม่ทรมานตัวเองมากเกินไป เช่นการปรุงก๋วยเตี๋ยว จากเดิมที่เคยใส่น้ำตาลที่ละมากๆ ก็ควรปรับลดลงเรื่อยๆ
2.บอกพ่อค้า แม่ค้า ในการประกอบอาหารว่า “ไม่หวาน” หรือเลือกอาหารที่เห็นว่าไม่มันมากจนเกินไปเพราะจะมีรสหวานพ่วงมาด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นพฤติกรรมที่สามารถปรับได้เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเราเอง
3.ควรเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และควรพักผ่อนให้เพียงพอ ควบคู่กับการออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ ได้อีกด้วย
……………………………………………………………………………………………………….……………………………
ที่มา : www.thaihealth.or.th สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)